วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

"Phantom Eye" ยานบินไร้คนขับพลังไฮโดรเจน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์15 กรกฎาคม 2553 13:25 น.

"แฟนทอมอาย" เครื่องบินไร้คนขับพลังไฮโดรเจนจากโบอิง (โบอิง)

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น

“โบอิง” เปิดตัวเครื่องบินไร้คนขับพลังงานไฮโดรเจน “เจ้าตาปีศาจ” ที่สามารถบินได้ต่อเนื่อง 4 วัน และสามารถบินได้สูงถึง 20,000 เมตร โดยเครื่องบินต้นแบบนี้ จะถูกส่งไปยังศูนย์วิจัยการบินของนาซาเพื่อเตรียมทดลองบินเที่ยวแรกต้นปี 2011 นี้

จากการเปิดเผยของ “โบอิง” (Boeing) บีบีซีนิวส์ระบุว่า บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ของโลกนี้ได้เปิดตัวเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจนไร้คนขับที่ชื่อว่า “แฟนทอมอาย” (Phantom Eye) หรือ “ตาปีศาจ” ซึ่งสามารถบินที่ระดับความสูง 20,000 เมตร และบินต่อเนื่องถึง 4 วัน

เครื่องบินต้นแบบนี้จะถูกขนส่งไปยังศูนย์วิจัยการบินดรายเดน (Dryden Flight Research Center) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ในช่วงฤดูร้อนนี้ของซีกโลกเหนือ เพื่อเตรียมทดสอบการบินเที่ยวแรกต้นปี 2011 ซึ่งเครื่องบินนี้เป็นผลงานจากหน่วยวิจัย “แฟนทอมเวิร์คส” (Phantom Works) และทีมพัฒนาที่เป็นความลับของโบอิง


โบอิงระบุว่า ในที่สุดเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจนนี้ ต้องมีความฉลาดอยู่ในตัวและสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเอง และบอกด้วยว่าเครื่องบินลำนี้รองรับเที่ยวบินทรหดได้อย่างยาวนาน เพราะมีระบบพลังงานไฮโดรเจนที่เบาขึ้นและทรงพลังขึ้น

คริส แฮดดอกซ์ (Chris Haddox) จากหน่วยวิจัยแฟนทอมเวิร์คสกล่าวว่า ในปี 1989 ทางบริษัทเคยทดลองบิน “คอนดอร์” (Condor) ยานไร้คนขับที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป ซึ่งบินได้นาน 60 ชั่วโมงและเป็นเวลายาวนานที่สุดแล้วที่ทำได้

“ตอนนี้เรากำลังพูดถึงการบินยาวนาน 96 ชั่วโมง” แฮดดอกซ์กล่าว

ทั้งนี้ โบอิงอธิบายว่าเครื่องบินแฟนทอมอายนี้ ใช้พลังงานไฮโดรเจน 2.3 ลิตร โดยมีเครื่องยนต์ทรงกระบอก 4 ชุดที่แต่ละชุดให้กำลัง 150 แรงม้า และตัวเครื่องมีขนาดใหญ่มาก ด้วยความกว้างของปีกที่ยาวถึง 46 เมตร

“มันไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อสอดแนม แต่สร้างมาเพื่อพิสูจน์ความอึด”แฮดดอกซ์บอกบีบีซีนิวส์

ด้านกระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักร (UK Ministry of Defence: MoD) สนใจในเครื่องบินที่มีความทนทานและบินได้ในระดับสูง เพื่อใช้ในการตรวจตรา และกำลังพิจารณาอย่างถ้วนถี่ในเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อบรรลุเป้าหมาย “โครงการบริโภคซากอินทรีย์” (Scavenger project) โดยกระทรวงมีความร่วมมือกับ ควินทิค (Qinetiq) บริษัทพัฒนาอากาศยานและการป้องกันภัย ซึ่งกำลังจะบรรลุความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์ที่เรียกว่า “เซไฟร์” (Zephyr)

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักรรบุว่า การบินได้ยาวนานถึง 4 วันนั้นเป็นเรื่องดี แต่ทางกระทรวงกำลังพิจารณาคุณสมบัติเพื่อตอบสนองความต้องการในการสอดแนมที่ถาวรและเข้มข้น ซึ่งเครื่องบินที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจะลอยตัวอยู่ในอากาสได้
นานเกินสัปดาห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น