วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความทรงจำนอกมิติ สมาธิ-สะกดจิตตัวเองกับอภิญญาจิตวิญญาณ




โพลล์ในประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมมากๆ และนานแล้ว เช่น ในสหรัฐอเมริกาต่างบ่งชี้ว่าคนบางคนมีความสามารถเหนือธรรมชาติ หรือตามที่ศาสนาพุทธเราเรียกว่า อภิญญา ได้มากกว่า 40% และที่สำคัญมากกว่าคือพบมากกว่าในคนที่ได้รับการศึกษาสูงๆ (Gallup Poll, 2005) ความสามารถหรือความรู้เหนือธรรมชาติหรืออภิญญานี้มี 2 รูปแบบกว้างๆ คือ ESP กับ PK ซึ่งเป็นคำย่อ (ของ extrasensory perception) กับ (psychokinesis) ที่ได้มาจากภาษากรีก) ซึ่งเป็นการอธิบายการทำงานระหว่างกันและกัน คำแรกอธิบายการทำงานระหว่างจิตกับร่างกายคนอื่น (มาก) กับเหตุการณ์ (น้อย) คำหลังอธิบายการทำงานของจิตกับวัตถุภายนอก

ฝรั่งที่ส่วนใหญ่มักจะได้รับการศึกษาสูงกว่าคนในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา และมักจะหัดให้เด็กอ่านหนังสือมาตั้งแต่ยังเล็กๆ อีกอย่างที่เห็นได้ชัดคือตัวอย่างที่ผู้ใหญ่มักทำ เด็กๆ ก็จะทำตาม คือหากผู้ใหญ่ชอบอ่านหนังสือและอ่านให้เด็กเห็น เด็กๆ ก็ชอบอ่านหนังสือกันไปด้วย ลูกชายที่อยู่อเมริกามาตั้งแต่เด็กและอยู่ต่างประเทศมานับรวมๆ กันได้เกือบ 40 ปี ก็ชอบอ่านหนังสือ เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งเป็นอเมริกันอ่านหนังสือทุกวัน สัปดาห์ละ 2-3 เล่ม และทำมานานแล้ว นึกถึงคนไทยที่อ่านหนังสือเฉลี่ยปีหนึ่งๆ ปีละ 3-4 เล่มแล้วต่างกันมาก เรา-ตั้งแต่เล็กๆ ก็มีคุณปู่คุณตาคุณย่าคุณยายผลัดกันเอาใจ พอโตขึ้นมาหน่อยก็ติดเกมติดกามแล้วก็บ้าเข็มขัดตามเพื่อนหรือติดยา จะเอาเวลาที่ไหน? มาอ่าน ก็ไม่รู้ว่าจะโทษใคร? นอกจากโทษรัฐบาล เพราะอาสาเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมืองเองด่าคนไทยรัฐบาลไทยแล้วรู้สึกค่อยยังชั่ว

บทความบทนี้ อย่างเคย มีอยู่ 2 ตอน คือ ตอนแรกเป็นเหตุ สมาธิซึ่งเป็นการปฏิบัติในศาสนาที่อุบัติขึ้นทางตะวันออก ในสายตาของผู้เขียนและนักฟิสิกส์บางคนมองไม่ต่างจากการสะกดจิตตัวเอง - เบาๆ ส่วนตอนหลังเป็นผล ผลคืออภิญญากับภาวะจิตวิญญาณ (spirituality) ที่ไล่ไปถึงนิพพาน พุทธศาสนานั้นจะเน้นสติปัญญา (intelligence) และปัญญาระดับสูง (wisdom or intuition ซึ่งไม่ใช่ลางสังหรณ์นะ) ในขณะเดียวกันนั้นก็ค่อยๆ มีภาวะจิตวิญญาณหรือธรรมจิตที่จะไล่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ตามขั้นตอนของวิวัฒนาการทางจิต ซึ่งมีสเปกตรัมหลากหลาย (มี 8 ระดับในเคน วิลเบอร์ และในสไปรัล ไดนามิกส์) ผู้เขียนเชื่อว่า เกิดเป็นมนุษย์นั้นมีศักยภาพเหลือหลาย คือแทบจะไม่มีอะไรเลยที่มนุษย์เราทำไม่ได้ - นอกจากเป็นธรรมชาติจริงๆ - ที่ว่ามีศักยภาพเหลือหลายนั้นคือเราทำเทียมธรรมชาติได้ แต่เหตุผลและประโยชน์ของการทำเทียมหรือจำลองธรรมชาติ ขึ้นกับความรู้ (information) และความรู้หรือข้อมูลนั้นขึ้นกับวิวัฒนาการทางจิตไล่ไปตามสเปกตรัมตามที่ว่านั้นอีกที โปรดอย่าลืมว่าวิวัฒนาการนั้นแปลหรือนิยามว่าการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นธรรมชาตินั้นจะต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลาสู่ความซับซ้อนกว่ายิ่งกว่าเก่าขึ้นไปเสมอ ความเชื่อในนิยายโบร่ำโบราณจักรๆ วงศ์ๆ (mythic) ย่อมซับซ้อนกว่าการเสกด้วยเวทมนต์คาถามายากลง่ายๆ (magic) และในตอนนี้หรือในปัจจุบันนี้มนุษย์เราส่วนใหญ่จะมีวิวัฒนาการจิตอยู่ที่ขั้นหรือระดับของตัวตนและเหตุผล (self-egoic rational) แต่ก็ยังมีส่วนน้อยและน้อยนิดไล่ลงไปขั้นหรือระดับที่ "ต่ำลงไป" กว่าขั้นหรือระดับนี้ลงไปตามลำดับ

การสะกดจิตนั้นนิยามกันว่าเป็นการทำโดยผู้อื่นที่ทำให้คนที่ถูสะกดจิตมีสภาพจิตครึ่งหลับครึ่งตื่น และจำไม่ได้กับพฤติกรรมของตนในระหว่างที่ตนถูกสะกดจิตอยู่นั้น การสะกดจิตตนเองที่ก็คือการทำสมาธิที่นักจิตวิทยาถือว่าเป็นสภาพการสะกดจิตอย่างเบาๆ ประการหนึ่ง โดยการพิจารณาหรือสร้างความคิดมุ่งเน้นเฉพาะต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดแต่เพียงอย่างเดียว (one-pointed mind concentration) โดยยุติความคิดในด้านอื่น การสร้างสมาธิด้วยวิธีนี้จะต้องพร้อมใน 3 รูปแบบ คือความตั้งใจภายในด้วยจิตที่มุ่งมั่น (intention) หนึ่ง ความตั้งใจจากภายนอกด้วยกาย วาจา จิตใจ (attention) เช่น อยู่ในสถานที่ที่เงียบสงบ หนึ่ง และการทำเช่นนั้นอย่างซ้ำๆ (repetition) อีกหนึ่ง และทั้ง 3 รูปแบบนี้จะหลงลืมหรือหย่อนยานอย่างหนึ่งอย่างใดไปไม่ได้เด็ดขาด และทั้งหมดนั้นทางศาสนาตะวันออกที่อุบัติขึ้นที่อินเดียและจีนจะบอกว่าต้องทำสมาธิไม่ต่ำกว่า 10% ของวันวันหนึ่งที่มี (2.5 ชั่วโมงต่อวัน) เป็นเวลานาน มิน่าที่ผู้เขียนถึงรู้สึกตกใจที่สำนักปฏิบัติจิตปฏิบัติธรรมต่างก็บอกผู้เขียนว่า อย่างน้อยจะต้องทำสมาธิในทางพุทธศาสนาวันละ 2 ชั่วโมง เช้าชั่วโมง เย็นชั่วโมงไปตลอดทั้งชีวิต (ผู้เขียนเพิ่งเริ่มนั่งอย่างจริงๆ จังๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 โดยไม่ขาดการปฏิบัติเลย (ผู้เขียนได้ปฏิบัติสมาธิมาตั้งแต่เมื่อกว่า 25 ปีก่อน แต่ไม่ได้ปฏิบัติทุกๆ วันอย่างสม่ำเสมอและจริงๆ จังๆ) มิน่าอีกทีที่ บี.อแลน วอลเลซ นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงของโลกและนับถือพุทธศาสนา เพราะได้ติดตามองค์ทะไล ลามะ มาตลอดถึงได้กล่าวว่าการทำสมาธินั้นต้องทำให้ได้รวมกันแล้วถึง 10,000-15,000 ชั่วโมงค่อนข้างจะติดต่อกัน (B.Alan Wallace : Hidden Dimensions, 2007) แล้วปีหนึ่งๆ ก็มีเพียง 365 วันเท่านั้น ตลอดทั้งชีวิตที่เหลือของผู้เขียนจึงถูกต้องตามสำนักที่สอนสมาธิปฏิบัติบอกดังกล่าวมานั้น อภิญญาในพุทธศาสนา-ความรู้เหนือธรรมชาติ (extrasensory perception หรือ ESP อันเป็น paraphysics) หรือเป็นคำตอบของคำถามที่เราอยากรู้อันเป็นการทำนายอนาคตนั้น ริชาร์ด อแลน มิลเลอร์ นักฟิสิกส์ที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นผู้ปฏิบัติสมาธิของเซนพุทธศาสนาได้บอกว่า ว่ากันตามจริงก็เป็นการคาดการณ์ (เดา) แต่ดีกว่าการเดาสุ่มๆ ไปเท่านั้นมากนัก คือ ดีกว่าการเดาของผู้ไม่ปฏิบัติสมาธิเลยที่เฉลี่ยได้เพียง 22-27 ใน 100 ครั้ง หรือคนที่มีความสามารถเหนือธรรมชาติที่มีชื่อ (psychics) เช่น คนทรงเจ้า อาจารยโหราศาสตร์ ฯลฯ ทำนายได้ที่อย่างดีก็ถูกเพียง 61 ครั้ง แต่หากสะกดจิตตัวเองแบบที่ริชาร์ด มิลเลอร์ แนะนำคือ ทำตามสมการที่มิลเลอร์ให้มา (ดูข้างล่าง) จะทำนายได้ถึง 83 ใน 100 ครั้ง ที่สำคัญคือ มิลเลอร์บอกว่าจักรวาลเป็นโฮโลแกรม (holographic universe) เป็นคนแรกตั้งแต่ช่วงต้นของทศวรรษที่ 1960 และที่สำคัญกว่านั้นมิลเลอร์ยังบอกว่าเป็นพลังงานจิตซึ่งก่อให้เกิดอภิญญา (ที่ทางวชิรญาณและมหายานพุทธศาสนาบอกว่าแยกออกจากจิต (ไร้สำนึก) ของจักรวาลไม่ได้ ทั้ง 2 ได้แยกตัวออกมาจากสุญตาหรือความว่างเปล่า (void) อภิญญานั้นพระพุทธเจ้าไมค่อยสนับสนุนนัก เพราะเป็นเรื่องที่คนทำสมาธิที่จะได้ทุกคนอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะติดอยู่ตรงนั้น จึงเลยมักจะไม่ขวนขวายแสวงหาปัญญาและการหลุดพ้นต่อ ซึ่งพุทธศาสนาถือว่าปัญญาคือจุดสุดยอดดังที่ผู้เขียนเล่าไว้หลายครั้งแล้ว) และมิลเลอร์ยังบอกว่า หากพลังงานจิตและจิตจักรวาลมีไม่พอ ซึ่งหมายความว่าหากไม่เข้มข้น (intense) พอ ก็ให้ทำสมาธิซ้ำๆ ต่อไปเพื่อให้สมาธินั้นมีความเข้มข้นพอ การสะกดจิตตัวเองที่ก็เป็นการทำสมาธิตามที่ริชาร์ด อแลน มิลเลอร์ ได้ร่วมวิจัยมาตั้งแต่ปีต้นๆ ทศวรรษที่ 1970 นั้น และตอนหลังได้กลายเป็นโครงการของกองทัพเรือของสหรัฐอเมริกา (U.S. Navy - SEALS) ได้สรุปว่าการสะกดจิตตัวเองคือการทำสมาธิและการได้รับ "ความรู้เหนือธรรมชาติ" (อภิญญา) ซึ่งหากจะเอาเพียงแค่นี้ ใครๆ ก็ทำได้หรือทำนายได้ (ไม่จำเป็นต้องเป็น psychics) แต่ต้องเข้าถึงจิตที่ "ว่างเปล่าโดยปราศจากความคิดใดๆ" (blank mind) ในขณะเข้าภวังค์ (trance) แล้วพยายามตอบคำถามที่อยากรู้นั้นหรือทำนายได้นั้น "อย่างเข้มข้น" แต่ต้องระลึกเสมอว่าตนนั้นไม่ใช่อรหันต์และทำนายได้ถูกต้องเผงเพียง 83% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 17% จึงผิดทั้งหมด และนั่นก็ไม่ใช่น้อยหากเป็นเรื่องทำนายอนาคตของโลก มิลเลอร์ยังได้ให้สมการไว้ให้คนที่สนใจกว่าผู้ที่อ่านบทความนั้นเฉยๆ สมการมีดังนี้
E(psi) = A(e) x i(c) x t
E(psi) คือ พลังงานจิต (ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกคำตอบที่เราอยากรู้หรืออภิญญานั้นจะเท่ากับ A(e) หรือตัวคงที่ของภูมิประเทศที่ไม่ต้องนำมาคูณก็ได้หากภูมิประเทศไม่เปลี่ยนแปลง คูณกับความเข้มข้นของสมาธิ i(c) หรือ intense concentration คูณกับ t หรือเวลาของความเข้มข้นของการทำสมาธิ หรือก็คือสตินั่นเอง (เว็บไซต์ nwbotanicals.org)
ส่วนภาวะ-สภาวะจิตวิญญาณ (spirituality) นั้นเป็นเส้นทางนำสู่นิพพานหรือเป็นเส้นทางวิวัฒนาการของจิตไปตามสเปกตรัมสู่โอเมกาพอยต์ของปิแอร์ เตยา เดอ ชาดัง เป็นสภาวะที่ไม่มี "ตัวกูของกู" (Selfless and egoless) โดยสิ้นเชิง ดังนั้นถึงได้ไม่มี "ทุกขา"
ที่เล่ามานี้ หากอ่านให้ดีจะพบว่าการทำสมาธิของผู้เขียนที่ได้ปฏิบัติหรือคิดว่าปฏิบัติตามคำสอนของพุทธศาสนานั้นไม่ได้กล่าวเฉพาะเถรวาทพุทธศาสนา ส่วนการสะกดจิตตัวเองที่มีผู้เขียนบอกว่าเป็นการทำสมาธินั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำสมาธิตามแบบฉบับของพุทธศาสนาในแบบที่คนไทยส่วนใหญ่มากๆ นับถือ แต่หมายถึงการทำสมาธิทั่วๆ ไป และต้องขอบอกอีกครั้งหนึ่งว่าบทความนี้มีจุดมุ่งหมายคล้อยตามการวิจัยของนักฟิสิกส์ชาวอเมริกันชื่อ ริชาร์ด อแลน มิลเลอร์ เผื่อว่ามีผู้อ่านคนใดประสงค์ที่จะทดสอบสมการของมิลเลอร์ว่าจะประยุกต์ใช้ในการทำนายเหตุการณ์ต่างๆ ของโลกหรือประเทศไทยว่ามีหรือหนักหน่วงหรือไม่? ซึ่งเว็บไซต์ได้ให้ไว้แล้วข้างบน หรือบทความของเขาผู้นั้นในวารสาร (Nexus ,vol.17 (3), 2010) ผู้เขียนขอย้ำว่าบทความบทนี้ไม่ได้มีเจตนาใดๆ เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มากๆ รวมทั้งผู้เขียนให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่ง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น